จากการที่ได้ผมได้มีส่วนร่วมในการออกแบบอาคารเขียว ตามเกณฑ์ของ US Green Building Council ที่มีชื่อว่า LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) มาหลายโครงการทำให้พบว่าถึงแม้เกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นเกณฑ์ที่ดีมากสำหรับการแบ่งประเภทของอาคารเขียวว่า มีการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมมากน้อยต่างกันแค่ไหน แต่เมื่อนำเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอาคารในประเทศไทยไปหลาย ๆ โครงการพบว่า ในรายละเอียดจะมีการอ้างอิงมาตรฐานประเทศสหรัฐเป็นจำนวนมากและมีแนวคิดในการออกแบบที่เหมาะกับสภาพสังคมของประเทศสหรัฐเป็นหลัก เช่น การจำกัดจำนวนที่จอดรถยนต์ การกำหนดให้มีแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคารในปริมาณที่มาก ซึ่งอาจจะถูกใจคนอเมริกา แต่สำหรับคนไทยแล้วเกณฑ์บางข้อ กลายเป็นการสร้างความรู้สึกไม่สบายแทน

ด้วยเหตุนี้กลุ่มสถาปนิกและวิศวกรจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ และ วิศวกรรมสถานฯ จึงได้ร่วมมือกันออกเกณฑ์อาคารเขียวสำหรับประเทศไทย ในชื่อว่า เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability – TREES) โดยได้แนวคิดมาจาก LEED และ แบบประเมินอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกระทรวงพลังงาน มาเป็นแนวทางในการกำหนดความเป็นอาคารเขียวที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และ รสนิยมของคนไทย

ในเกณฑ์การประเมินนั้นจะแบ่งออกเป็น 8 หมวด ได้แก่

  • หมวดที่ 1 การบริหารจัดการอาคาร (Building Management)
  • หมวดที่ 2 ผังบริเวณและภูมิทัศน์ (Site and Landscape)
  • หมวดที่ 3 การประหยัดน้ำ (Water Conservation)
  • หมวดที่ 4 พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
  • หมวดที่ 5 วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง (Materials and Resources)
  • หมวดที่ 6 คุณภาพของสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality)
  • หมวดที่ 7 การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection)
  • หมวดที่ 8 นวัตกรรม (Green Innovation)

โดยเกณฑ์ TREES จะเป็นแบบสมัครใจเข้าร่วม และมีระดับขั้นการประเมินถึง 4 ระดับ ได้แก่ Certified Silver Gold Platinum ขึ้นอยู่กับคะแนนที่แต่ละอาคารจะได้รับมากน้อยแตกต่างกันไป โดยอาคารที่ผ่านการประเมินจะต้องผ่านเกณฑ์บังคับ 9 ข้อด้วย เพื่อยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามเกณฑ์อาคารเขียวที่จำเป็นได้ครบถ้วน

สำหรับรายละเอียดภายในเกณฑ์นั้นสามารถ download ได้จาก website www.tgbi.or.th หรือ www.asa.or.th ในบทความนี้ขอกล่าว ถึงข้อแตกต่างของเกณฑ์ TREES กับเกณฑ์อาคารเขียวประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นว่าเหตุใดเราจึงควรมีเกณฑ์อาคารเขียวเป็นของตนเอง

หมวดที่ 1จะมีคะแนนสำหรับอาคารที่เผยแพร่ข้อมูลความเป็นอาคารเขียวสู่สาธารณะ เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ชุมชน เน้นการมีส่วน ร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ขยายผลสู่ส่วนอื่นๆ ได้

หมวดที่ 2จะมีคะแนนเพิ่มขึ้นสำหรับการจัดสวนแนวตั้งเนื่องจากรูปแบบการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นอาคารแนวตั้ง ดังนั้นการเพิ่มทางเลือกให้แก่อาคารในการเพิ่มสีเขียวแก่สังคมจึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัย์ นอกจากนี้ การยินยอมให้เตรียมที่จอดรถมากกว่ากฎหมายได้ก็เป็นการช่วยลดความแออัดบนท้องถนน ลดปริมาณรถติด ลดการเผาเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น

หมวดที่ 3จะมีการเพิ่มทางเลือกเพื่อให้อาคารต่างๆในประเทศไทยเข้าสู่เกณฑ์ การประเมินได้ง่ายขึ้น โดยการดำเนินการตามข้อกำหนดเช่น การใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำตามจำนวนที่กำหนดโดยไม่จำเป็นต้องคำนวณการใช้น้ำ แนวทางนี้เป็นการกำหนด ทางด้าน Prescriptive Base เพิ่มเติมจากการกำหนดทางด้าน Performance Base เหมือนเช่นเกณฑ์อื่น ๆ

หมวดที่ 4มีความแตกต่างจากเกณฑ์ต่างประเทศที่สำคัญมากที่สุด คือ ยินยอมให้ใช้โปรแกรม BEC (พัฒนาโดยกระทรวงพลังงาน และ มจธ.) เทียบกับค่ามาตรฐาน ตามที่ระบุในกฎกระทรวงพลังงานได้ การดำเนินการตามวิธีนี้จะทำให้อาคารเข้าสู่เกณฑ์ประเมินได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาในการประเมินพลังงานได้เร็วขึ้นจากที่ต้องทำการจำลองการใช้พลังงานด้วยโปรแกรมที่มีความซับซ้อน และยังทำให้การลงทุนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานมีความเหมาะสม คุ้มทุนสำหรับประเทศไทย ซึ่งต่างจากการใช้เกณฑ์ LEED ที่จะต้องประหยัดพลังงานให้ได้มากกว่ามาตรฐาน ASHRAE 90.1 ทำให้ต้องลงทุนด้านอุปกรณ์เป็นราคาที่แพงมาก เช่น มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งดีมากในแง่ประหยัดพลังงานแต่อาจไม่คุ้มทุนสำหรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าในประเทศไทย และ อาจทำให้ต้นทุนการก่อสร้างอาคารแพงขึ้นเกินกว่าสภาพสังคมจะยอมรับได้

หมวดที่ 5มีการสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ฉลากเขียว หรือฉลากคาร์บอนของประเทศไทย เป็นการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทางที่สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ลดการพึ่งพา การประเมินจากภายนอก ทำให้อาคารได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

หมวดที่ 6มีการยินยอมให้ใช้สวิทซ์ควบคุมแสงสว่างเฉพาะบุคคลซึ่งจะทำให้ลดการใช้ระบบควบคุมที่มีความซับซ้อนทำให้ลดการลงทุน และภายในหมวดนี้ยังกำหนดเกณฑ์แสงธรรมชาติที่เหมาะสมกับความรู้สึกสบายของคนไทยด้วย

หมวดที่ 7มีการเพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องตำแหน่งของเครื่องระบายความร้อน ไม่ให้กระทบต่ออาคารข้างเคียง เนื่องจากแนวทาง การพัฒนาอาคารของประเทศไทยจะมีระยะห่างระหว่างอาคารค่อนข้างน้อยกว่าต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการการรบกวนกันระหว่างอาคาร ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่อาคารข้างเคียงได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์

หมวดที่ 8เป็นหมวดที่ให้คะแนนสำหรับอาคารที่คิดนวัตกรรมการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมได้เหมาะสม ซึ่งสามารถตัดสินได้จากคณะกรรมการ จากสถาบันอาคารเขียวไทยเอง ทำให้เป็นหัวข้อที่เสนอเป็นที่เข้าใจและเหมาะสมกับสังคมไทยได้อย่างแน่นอน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า นอกจากประเด็นในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่ทางคณะกรรมการสถาบันอาคารเขียวไทยพิจารณาคือ ความเหมาะสมทางด้านสังคมและเศรษฐศาสตร์ สำหรับประเทศไทยด้วย อาคารในเมืองไทยจะสามารถสร้างให้ดีแค่ไหนก็ได้ แต่ต้นทุนที่ใช้ วัสดุที่ใช้ จะคุ้มค่าต่อเงินที่คนไทยเสียไปหรือไม่ เมื่อก่อสร้างแล้วจะสร้างผลตอบแทนที่สมดุลให้แก่ ผู้ลงทุน และสิ่งแวดล้อมในประเทศหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นที่จะต้องพิจารณา ดังนั้นการมีเกณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย และมีความยากง่าย พอควรแก่อาคารในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่จะเชื้อเชิญให้อาคารต่าง ๆ เข้าร่วมการประเมิน หรือ อย่างน้อยก็ได้นำเกณฑ์ไปใช้พัฒนาอาคาร ซึ่งที่สุดแล้วประเทศไทยก็จะได้เพิ่มจำนวนอาคารที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

https://mitr.com/wp-content/uploads/2023/06/article_6_1.png

หมวดหมู่:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ระบบโทรทัศน์วงจรปิดแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบสัญญาณภาพจากกล้อง Analog โดยใช้ระบบบันทึกภาพแบบ DVR (digital Video Recorder) และแบบสัญญาณกล้องเป้น IP แล้วใช้ชุดบันทึกภาพแบบ NVR (Network VDO Recorder) โดยทั้ง 2 ระบบมีความแตกต่างกันดังนี้ 1. ระบบ DVR ระบบ DVR จะรับสัญญาณภาพจากกล้องที่มีการประมวลผลแบบ Digit

Read More

การออกแบบระบบสูบน้ำระบบเปิด เช่น การสูบน้ำหล่อเย็นของระบบระบายความร้อนของเครื่องทำความเย็นแบบศูนย์รวม (Chiller) หากค่าอัตราการไหลของน้ำหล่อเย็นสูงเกินกว่าค่าพิกัดใช้งาน ก็สามารถลดค่าอัตราการไหลของน้ำหล่อเย็นลงได้โดยการติดตั้ง VSD แต่ต้องพิจารณาถึงแรงดันของน้ำหล่อเย็น (Head) ด้วยว่า เมื่อลดอัตราการไห

Read More

หลังจากที่ US Green Building Council ได้ออกเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวในชื่อ LEED เกณฑ์นี้ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก มีอาคารหลายแห่งในหลายประเทศ สนใจเข้าร่วมรับการประเมิน กว่า 26,000 อาคารแล้ว และมีอีกหลายประเทศที่ได้พัฒนาเกณฑ์ขึ้นมาใช้เอง เช่น สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมถึง ประเทศไท

Read More

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า